Monday, July 5, 2010

การทำน้ำหมักชีวภาพลูกยอ

การหมักหัวเชื้อลูกยอ(สูตรที่ผู้เขียนทำเองมาตั้งแต่ปี 2545)

ขั้นที่ 1 : ล้างลูกยอให้สะอาด ผึ่งไว้สักครู่ คัดลูกยอสุกใส่ถุงพลาสติกสำหรับหมัก
ขั้นที่ 2 : เทน้ำตาลใส่เป็นชั้นๆ
ขั้นที่ 3 : ปิดปากถุง รัดด้วยยางหนัง ปิดฝาถังพลาสติก เก็บไว้ในที่มืด 3 เดือน
เมื่อครบ 3 เดือนแล้ว จะได้หัวเชื้อน้ำลูกยอสีคล้ำๆ รสชาดเปรี้ยวจัด ก่อนนำไปบริโภคต้องมีการปรุงเสียก่อน
ส่วนผสมที่ใช้ 1. หัวเชื้อที่หมักครบ 3 เดือนแล้ว ประมาณ 3 ก.ก.
2. น้ำตาลทรายแดง 1 ก.ก.
3. มะละกอสุก 1 ผล หั่นละเอียด
4.กล้วยน้ำว้าสุก 1 หวี หั่นละเอียด
5. น้ำดื่มสะอาด 8-10 ลิตร วิธีทำ 1. บดผลไม้ทั้งสองชนิดให้ละเอียดที่สุด
2. เทน้ำตาลทรายใส่ลงไปขณะบด
3. เทหัวเชื้อน้ำลูกยอใส่ลงไป คนให้เข้ากันดี
4. ตักกรองใส่ภาชนะไว้ ขณะกรองให้บดเนื้อผลไม้ให้ละเอียดไปด้วย
5. กรองผ่านตะแกรง
6. กรอกใส่ขวด ให้เหลือเนื้อที่ประมาณ 1 ใน 3 ของขวด
7. ติดสลาก ตั้งไว้ในที่ร่มอย่างน้อย 10 วัน จึงนำมาดื่มได้ครั้งละ 2 ช้อนแกง (= 1 ช.ต.)
ดื่มก่อนอาหาร จะช่วยทำให้เจริญอาหาร
ดื่มหลังอาหาร จะช่วยย่อยอาหาร ช่วยปรับธาตุ หากอาหารที่รับประทานสกปรกทำให้เราท้องเสีย ก็จะช่วยรักษาให้ท้องเป็นปกติได้ โดยไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นสารเคมี บางท่านอยู่ไกลหมอก็สามารถช่วยบรรเทาได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล แต่หากอาการท้องเสียไม่ทุเลาก็จงรีบไปพบแพทย์

(ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia Linn.) จัดได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีค่ามาก ทั้งในแง่ของการใช้เป็นอาหารละเป็นทั้งยา ลูกยอเป็นที่รู้จักกันดีในแถบหมู่เกาะโพลีเนเซี่ยนและฮาวายในชื่อ โนนิ (Noni) เป็นพืชพื้นเมืองในประเทศเขตร้อน มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า ยอ ยอบ้านมะตาเสือ มีดอกแกเป็นช่อ ออกที่ซอกใบ ผลอ่อนมีสีเขียวสด มีตาเป็นปุ่มรอยตัว


เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลอมส้ม อ่อนนุ่ม มีกลิ่นฉุน ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มเป็นจำนวนมาก ใบยออุดมไปด้วยแคลเซียม โดยมีแคลเซียมสูงพอๆ กับผักคะน้า ใบยอต้มสักสองช้อนโต๊ะ ให้แคลเซียมสูงพอๆ กับนมหนึ่งแก้วหรือสูงถึง 400 มิลลิกรัม


นอกจากแคลเซียมสูงแล้ว ใบยอรวมไปถึงลูกยอ ยังมีฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ทั้งใบยอและน้ำลูกยอ จึงนำมาใช้บำรุงกระดูกได้ค่อนข้างดี สำหรับวิตามินนั้น ในใบยอรวมไปถึงลูกยอ มีสารเบต้าแคโรทีนสูง สารตัวนี้เป็นสารก่อวิตามินเอและยังเป็นสารต้านออกซิเดชั่น ช่วยทำลายอนุมูลอิสระอีกด้วย

ประโยชน์ทางการแพทย์และช่วยดูแลสุขภาพของยอ
จากผลการวิจัยในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการทานลูกยอหรือน้ำลูกยอธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเสริมภูมิต้านทาน โดยการควบคุมการทำงานของเซล การกระตุ้นให้สร้างเซลใหม่ทดแทนเซลเดิม ที่ถูกทำลายไป ดังนั้นลูกยอจึงช่วยเยียวยาร่างกายพร้อมกับสามารถใช้ลูกยอทานร่วมกับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน โดยการไปเสริมให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น


ดังนั้นในการใช้ดูแลสุขภาพร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ให้ลองทานที่ละน้อยและค่อยๆเพิ่มขึ้นและสามารถลดยาแผนปัจจุบันให้น้อยลงได้ จากรายงานการวิจัย พบว่ามีผลข้างเคียงน้อยมาก โดยมี <5%>

สรรพคุณในการบำบัดดูแลผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสารสำคัญในลูกยอคือ สโคโปเลติน (Scopoletin) สารตัวนี้จะมีฤทธิ์ไปช่วยขยายหลอดเลือด ให้ความยืดหยุ่น ผลคือทำให้ระดับของความดันโลหิตเริ่มลดลง สารสำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือโปรเซอโรนีน(Proxeronine) โดยเมื่อเข้าสู่ร่างกายโปรเซอโรนีนจะถูกเซลในร่างกายเปลี่ยนไปเป็นเซอโรนีน (Xeronine) ซึ่งมีผลทางบวกต่อเซลในร่างกาย โดยการควบคุมปฏิกริยาต่างๆในร่างกายในบริเวณที่มีการอักเสบให้ลดลงจนเป็นปกติได้ดีขึ้น โดยเป็นไปได้ที่เซอโรนีนอาจไปป้องกันมิให้เปปไทด์ ที่กระตุ้นการอักเสบไปจับตัวกับโปรตีนเฉพาะนี่เอง ทำให้สามารถลดการอักเสบ ปวดบวม ลงได้ องค์ประกอบสำคัญในการสร้างเซอโรนีนในร่างกายจะประกอบด้วย โปรเซอโรนีน เอ็มไซม์โปรเซอโนเนส (proxeronase) และเซโรโทนิน โดยปกติแล้วร่างกายจะสามารถสร้างเวอโรนีนได้เองแต่ในปริมาณจำกัด โดยตับจะเป็นตัวสะสมโปรเซอโรนีนทุก 2 ชั่วโมง โดยคำสั่งจากสมองมาที่ตับ จะกระตุ้นให้ตับปล่อยโปรเซอโรนีนออกมา เซลของอวัยวะต่างๆของร่างกายจะดูดซับเอาไว้และเปลี่ยนให้เป็นเซอโรนีนตามที่ต้องการ


ดังนั้นความผิดปกติในการทำงานของเซลก็จะต้องอาศัย หรือขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรเซอโรนีน โดยปกติร่างกายจะไม่มีปัญหาอย่างใดจนกว่าร่างกายจะตกอยู่ในภาวะที่ต้องการเซอโรนีนจำนวนมาก เช่น ภาวะเครียด (Stress) เป็นเวลานาน ปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภาวะการเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของเซลก่อนกลายไปเป็นเซลมะเร็ง การติดเชื้อรา การได้รับสารพิษเป็นระยะเวลานาน (เช่นกลุ่มที่ได้รับสารพิษจากการทำงานเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดภาวะผิดปกติฤอย่างไม่ทราบสาเหตุเรื้อรัง) ภาวะต่างๆข้างต้นหรือจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน จะส่งผลให้เซลร่างกายต้องการเซอโรนีนเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากตับที่ทำหน้าที่ผลิตสารตั้งต้นโปรเซอโรนีนได้ในปริมาณจำกัด อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกิดขึ้น


ดังนั้นจากการวิจัยผลยอหรือน้ำสกัดลูกยอเข้มข้น จึงมีประโยชน์อย่างมากเพราะในลูกยอจะมีสารโปรเซอโรนีน (Proxeronine) ประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก คุณค่าของลูกยออีกประการหนึ่งมาจากความเกี่ยวข้องกับสาร เซโรโทนินคือ มีความสามารถในการจับยึดกับสารเซโรโทนินได้ดี โดยสารเซโรโทนินเมื่อใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า (depression) หรือผู้ป่วยปวดศีรษะไมเกรน จะมีอาการดีขึ้น


ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เซโรโทนิน เป็นสารตัวหนึ่งในขบวนการชีวสังเคราะห์เพื่อให้ได้อัลคาลอยด์ที่เรียกว่า เซอโรนีนซึ่งมีประโยชน์ต่อการบำบัดดูแลรักษาระบบของร่างกายคือ


- ภาวะปรวนแปรของพละกำลัง (Altered Energy State, AES) เช่นการขาดพละ กำลังแห่งชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียด ก่อให้เกิดภาวะโรคเบื่อหน่าย/เซ็งเรื้อรัง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

- โรคภูมิแพ้ตนเอง (Autiimmune Disease) เช่นโรคเอส แอล อี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes type 2) ต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคลำไส้อักเสบแบบโครห์น (Crohn's) ลูปัส อีริธีมาโตซัส (Lupuserythematosus)

- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunedeficiency) เช่นโรคติดเชื้อไวรัส HIV และเอปสไตน์ บาร์ ไวรัส (Epstein Barr Virus) โรคเชื้อราแคนดิดา

- การติดเชื้อเฮอร์ปีส์ ชนิดที่ 1 และ 2 ตับอักเสบเรื้อรัง การอักเสบในช่องเชิงกราน ตับอ่อนอักเสบ กลุ่มอาการหลังติดเชื้อไวรัส ต่อมใทรอยด์อักเสบ ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา

- ช่วยลดภาวะการหลั่งเกินของเยื่อเมือก เช่นโรคไซนัสอักเสบ หอบหืด หลอดลมอักเสบ และน้ำมูก ไหลเรื้อรัง

- การปรับลดภาวะการหลั่งของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากเกิน ทำให้ช่วยลดปัญหาแผลใน กระเพาะอาหารและลำไส้ เล็กส่วนต้น กระเพาะอาหารอักเสบ

- ช่วยการทำงานของต่อมใต้สมองดีขึ้น ต่อมนี้จะทำหน้าที่ผลิต เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งจะไปเปลี่ยนไปเป็น เมลาโทนิน (Melatonin) โดยเมลาโทนินนี้จะเป็นตัวช่วยการนอนหลับให้เป็นปกติ ช่วย ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ ให้เกิดความสมดุล

- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด - บรรเทาอาการผิดปกติ อาการปวดก่อนประจำเดือนมา (PMS)


สรรพคุณพื้นบ้านของไทยตามตำรับยาแผนโบราณ ยอเป็นกลุ่มยาร้อน ใข้แก้อาการมือเท้าตาย ยอเหมาะกับคนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดตามข้อ ช่วยแก้โรคหวัดมีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน โดยเฉพาะผลยอจะช่วยแก้อาเจียน ขับลม บำรุงธาตุ โดยการใช้ผลยอที่ไม่สุกหรือดิบเกินไป หั่นปิ้งไฟพอเหลืองกรอบ ต้มเอาน้ำเป็นกระสาย หรีอต้มชงดื่มเอาน้ำที่ได้จิบที่ละน้อยแต่บ่อยครั้ง


ผลสุกช่วยขับระดู ผลดิบมีคุณสมบัติในการรักษาโรคเหงือก น้ำคั้นบรรเทาอาการเจ็บคอ ลูกยอประกอบด้วยกลุ่มสารสำคัญคือ โมโนเทอร์ปีน (Monoterpines) ได้แก่ Asperuloside และยังมีเบต้าคาโรทีน มีสารหอมระเหยซึ่งส่วนมากเป็นสารกรดคาร์บอกซีลิค เช่น กรดอ็อกทาโนอิค กรดเฮกซาโนอิค เป็นต้น


ลูกยอสุกเป็นยาขับผายลมในลำไส้ได้ดีมาก วิธีปรุง นำลูกยอดิบที่ยังเขียวอยู่ แต่เมล็ดข้างในแข็งแล้ว โดยทั่วไปจะเอาลูกยอทั้งลูกเผาบนถ่านไฟโดยใช้ไฟอ่อนๆ กะว่าผิวนอกไหม้ดำเป็นถ่าน ข้างในเหลืองกรอบพอดี ถ้าเผาไม่ถึงที่จะมีรสขื่น หรือไม่มีเตาถ่านให้เอาลูกยอมาหั่นเป็นแว่นบางๆแล้วคั่วทั้งสดๆโดยใช้ไฟอ่อนๆเช่นกันโดยคั่วให้เหลืองกรอบ จากนั้นนำมาต้มหรือชงกับน้ำร้อน โดยใช้ลูกยอ 1 ลูกต่อน้ำ 1 แก้ว โดยจะใช้วิธีชงทิ้งไว้สักพัก 5 นาที


ข้อสำคัญควรดื่มน้ำลูกยอนี้ในขณะที่ยังร้อนหรืออุ่นๆ

วิธีรับประทาน

1. ให้จิบทีละนิดไปเรื่อยๆ เพราะในคนที่อาเจียนรับประทานอะไรเข้าไปมากๆไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อจิบไปเรื่อยๆ จะช่วยให้อาการคลื่นไส้อาเจียนลดลงจนหาย

2. รับประทานลูกสุกเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพียงแต่นำลูกยอที่สุกงอมมาจิ้มเกลือน้ำตาลรับประทาน แต่ก็จะยากสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นลูกยอ

3. รับประทานลูกดิบแก่ๆ เป็นการหลีกเลี่ยงกลิ่นเหม็นของลูกยอคือเอาลูกยอดิบที่แก่ที่เม็ดข้างในแข็งแล้ว นำมาฝานเป็นชิ้น บางๆ นำมาจิ้มเกลือ หรือเอามายำหรือตำเป็นแบบส้มตำโดยใช้แทนมะละกอ

4. หากต้องการทำเก็บไว้กินนานๆ ให้นำลูกยอแก่ มาฝานเป็นแว่นบางๆตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงให้ละเอียด เวลาใช้นำมาชงละลาย ในน้ำร้อนหรือปั้นผสมกับน้ำผึ่งรับประทาน โดยใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา หรือ 1-2 เม็ดหลังอาหาร

ปัจจุบันมีการผลิตออกมาเป็นผงบรรจุอยู่ในแคปซูล เก็บไว้ได้นานและพร้อมรับประทานง่ายๆ รายละเอียดเพิ่มเติม

5. น้ำลูกยอ (Noni) เพื่อให้ได้ประโยชน์และสรรพคุณที่หลากหลายของยอ และช่วยให้การบริโภคที่ควรได้ รับเป็นประจำสะดวกขึ้นจึงมีการผลิตออกมาเป็นน้ำลูกยอ ซึ่งสามารถช่วยดูแลสุขภาพและรักษาโรคต่างๆ

จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า น้ำลูกยอสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลมะเร็ง ควบคุมการทำงานของเซลให้เป็นปกติ ช่วยรักษาโรคและอาการไม่ปกติอื่นๆของร่างกายได้อีกด้วยเหตุที่น้ำลูกยอมีประโยชน์ช่วยในการดูแลรักษาโรคได้ เพราะในน้ำลูกยอที่สกัดตามธรรมชาติมีสารอาหารครบถ้วน เช่น อมิโนแอซิด คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุต่างซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อกลไกของการสร้างเซลการผลิตพลังงานของร่างกาย นอกจากจะมีประโยชน์จัดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว ยังจัดเป็นกลุ่มไฟโตสเตียรอล ซึ่งร่างกายนำไปใช้ช่วยเสริมในการผลิตฮอร์โมนซึ่งจำเป็นในการควบคุมกลไกการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายให้เป็นปกติอีกด้วย

ในปัจจุบันน้ำลูกยอถูกจัดว่าเป็นอาหารเสริมที่ดีมาก เพราะจากประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้วในลูกยอมีสารแอลคาลอยด์ที่เรียกว่าสารเซอโรนีน ซึ่งมีความสำคัญในการทำงานของโปรตีนในร่างกาย ระดับปกติของเซอโรนีนในวันเด็กหรือวัยหนุ่มสาวมีจำนวนไม่มากและจะเริ่มลดลงไปอีกเมื่ออายุมากขึ้น เมื่อระดับของเซอโรนีนลดลง เซลต่างๆในร่างกายก็เริ่มทำงานผิดปกติไป

ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานหนัก มีภาวะเครียดสูง บริโภคน้ำลูกยอเป็นประจำ ท่านจะพบว่าร่างกายจะเริ่มสดชื่นแข็งแรงมากขึ้น ความเจ็บป่วยต่างๆจะค่อยๆทุเลาลง เนื่องจากน้ำลูกยอจะไปช่วยเพิ่มระดับเซอโรนีน เพื่อชดเชยส่วนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เมื่อมีความสำคัญของลูกยอและมีการขยายตัวในการใช้ลูกยอเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นสมุนไพรที่ต่างชาติต้องการ ที่จะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วส่งกลับเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยในราคาสูง หรือแม้แต่ผู้ผลิตในบ้านเราเพื่อเร่งให้ทันต่อความต้องการ

หลายผลิตภัณฑ์จะใช้ตัวเร่งในการหมักให้เร็วขึ้น ทำให้ได้ปริมาณอัลกอฮอล์ปนเข้ามาในปริมาณสูง (คล้ายไวน์) ทำให้ผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพต้องได้รับอัลกอฮอล์เข้าไปด้วย ในรายที่แพ้การดื่มน้ำลูกยอส่วนหนึ่งมาจากการแพ้อัลกอฮอล์ด้วย เช่น เป็นผื่นร้อนวูบวาบ หน้าแดง หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ เป็นต้น ท่านควรเลือกชนิดที่ไม่มีอัลกอฮอล์หรือมีให้น้อยที่สุดหรือเลือกทานเป็นแบบแคปซูลไปเลย

กล้วยน้ำว้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ :Musa ABB cv. Kluai ‘Namwa’
ชื่อสามัญ : Banana
วงศ์ : Musaceae
ชื่ออื่น : กล้วยมะลิอ่อง (จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่, เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง (อุบลราชธานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 3.5 เมตร ลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน กาบเรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม สีเขียวอ่อน ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 25-40 ซม. ยาว 1-2 เมตร ปลายใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ด้านล่างมีนวลสีขาว เส้นใบขนานกันในแนวขวาง ก้านใบเป็นร่องแคบ ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอดห้อยลง เรียกว่า หัวปลี มีใบประดับขนาดใหญ่หุ้มสีแดงเข้ม เมื่อบานจะม้วนงอขึ้น ด้านนอกมีนวล ด้านในเกลี้ยง ผล รูปรี ยาว 11-13 ซม. ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก เนื้อในมีสีขาว พอสุกเปลือกผลเป็นสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน รับประทานได้ หวีหนึ่งมี 10-16 ผล บางครั้งมีเมล็ด เมล็ดกลม สีดำ

ส่วนที่ใช้ : หัวปลี เนื้อกล้วยน้ำว้าดิบ หรือห่าม กล้วยน้ำว้าสุกงอม ราก ต้น ใบ ยางจากใบ
สรรพคุณ :
• ราก -แก้ขัดเบา
• ต้น - ห้ามเลือด แก้โรคไส้เลื่อน
• ใบ - รักษาแผลสุนัขกัด ห้ามเลือด
• ยางจากใบ - ห้ามเลือด สมานแผล
• ผล - รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องเสีย ยาอายุวัฒนะ แก้โรคบิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้ริดสีดวง
• กล้วยน้ำว้าดิบ - มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเดิน แก้โรคกระเพาะ และอาหารไม่ย่อย
• กล้วยน้ำว้าสุกงอม - เป็นอาหาร ยาระบาย สำหรับผู้ที่อุจจาระแข็ง หรือเป็นริดสีดวงทวารขั้นแรกจนกระทั่งถ่ายเป็นเลือด
• หัวปลี - (ช่อดอกของต้นกล้วย จำนวนไม่จำกัด) ขับน้ำนม

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
• ขับน้ำนม - ใช้หัวปลีแกงเลียงรับประทานบ่อยๆ หลังคลอดใหม่ๆ
• แก้ท้องเดินท้องเสีย
ใช้กล้วยน้ำว้าดิบหรือห่ามมาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบางๆ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มนานครึ่งชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1/2 - 1 ถ้วยแก้ว ให้ดื่มทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ใน 4-5 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ดื่มทุกๆ 3-4 ชั่วโมง หรือวันละ 3-4 ครั้ง

สรรพคุณเด่น :
• แก้โรคกระเพาะ ท้องผูก
1. แก้โรคกระเพาะ - นำกล้วยน้ำว้าดิบ (ถ้าเป็นกล้วยกักมุกดิบจะดีกว่า) มาปอกเปลือก แล้วนำเนื้อมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ตากแดด 2 วันให้แห้งกรอบ บดเป็นผงให้ละเอียด ใช้รับประทาน ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำข้าว น้ำผึ้ง (น้ำธรรมดาก็ได้) รับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง และก่อนนอนทุกวัน
2. แก้ท้องผูก - ให้รับประทานกล้วยน้ำว้าสุกงอม ครั้งละ 2 ผล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 1/2 ชั่วโมง เวลารับประทานควรเคี้ยวให้ละเอียดที่สุด
3. แก้ท้องเดิน - ใช้เนื้อกล้วยน้ำว้าห่ามรับประทาน หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบ ฝานเป็นแว่น ตากแห้งรับประทาน
สารเคมีที่พบ :
• หัวปลี ?มีธาตุเหล็กมาก
• หัวปลี และราก มี Triterpene หรือ Steroid
ผลกล้วย ทุกชนิดประกอบด้วย น้ำ แป้ง โปรตีน ไขมัน เส้นใย เกลือแร่ต่างๆ (โดยเฉพาะแคลเซียม เหล็ก และโปรแตสเซียมในกล้วยหอมมีมาก) วิตามิน และเอนไซม์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมี Serotonin Noradrenaline และ Dopamine
• ผลดิบ มีแป้ง Tannin acid, Gallic acid และ Pectin มาก
• กล้วยหอมสุก ให้กลิ่น และรสของ Amyl acetate, Amylbutyrate Acetaldehyde, Ethyl alcohol และ Methyl alcohol
• น้ำยาง มี Pelargonidin, Cyanidin, Delphinidin Palonidin Petunidin และ Malvidin
ประโยชน์ทางยาของกล้วยหอม
กล้วยหอมเป็นผลไม้ รสหวาน เย็น ไม่มีพิษ สารอาหารที่สำคัญๆ ในกล้วยหอม ได้แก่ แป้ง โปรตีน ไขมัน น้ำตาล วิตามินหลายชนิด จัดเป็นผลไม้บำรุงร่างกายดี นอกจากนี้กล้วยหอมยังสามารถใช้รักษาโรคได้หลายชนิด เช่น เป็นยาทำให้ปอดชุ่มชื่น แก้กระหาย ถอนพิษ นอกจากนี้ยังพบว่า มีฤทธิ์รักษาตามตำรับยา ดังนี้
• รักษาความดันโลหิตสูง - เอาเปลือกกล้วยหอมสด 30-60 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม ถ้าเอาปลีกล้วยต้มรับประทานเป็นประจำ จะช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองแตกได้
• รักษาริดสีดวงทวาร แก้ท้องผูก - รับประทานกล้วยหอมสุกตอนเช้า ขณะท้องว่างวันละ 1-2 ผล ทุกวัน
• รักษามือเท้าแตก - เอากล้วยหอมที่สุกเต็มที่ เจาะรูเล็กๆ ที่ปลายข้างหนึ่ง แล้วบีบเอากล้วยออกมาทาที่เท้าแตก ทิ้งไว้หลายชั่วโมง จึงล้างออก จะรู้สึกดีขึ้น

มะละกอผักผลยอดนิยม สารพัดประโยชน์
ที่มา http://www.doctor.or.th/node/3868

เราอาจจัดมะละกออยู่ในจำพวกผักที่เรียกว่า “ผักผล” (Fruit Vegetables) เพราะใช้ผลมาประกอบอาหาร(คาว) เป็นหลัก แม้จะใช้ส่วนอื่นๆ (เช่น ใบ ยอด) เป็นด้วยผักได้ด้วย แต่ใช้น้อยกว่าผลมาก ผักจำพวก “ผักผล” นี้มีหลายชนิด เช่น มะเขือ แตงกวา ฟังทอง เป็นต้น ในบรรดาผัดที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น มะละกอนับได้ว่าเป็นผักผลที่ได้รับความนิยมสูงและมีประโยชน์ในด้านต่างๆ กว้างขวางกว่าผักผลชนิดอื่นๆ แทบทุกชนิด จึงคงไม่ผิดความจริงหากเราจะเรียกมะละกอว่าเป็นผักผลยอดนิยมสารพัด ประโยชน์ของชาวไทย

รากเหง้าพื้นเพดั้งเดิมของมะละกอ : “มาไกล ” เหมือนกัน
มะละกอมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม อยู่ในทวีปอเมริกาแถบร้อน ก่อนที่จะถูกนำไปปลูกในประเทศต่างๆ ที่มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกันทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่า มะละกอถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรกหลายร้อยปีมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มติดต่อค้าขายกับชาวยุโรปในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากนั้นจึงกระจายไปปลูกในทุกภาคของประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของพืชผักพื้นบ้านและส่วนประกอบของตำรับอาหารไทยหลายชนิด โดยเฉพาะตำรับอาหาร “ยอดนิยม” อย่างส้มตำ

มะละกอเป็นชื่อที่เรียกในบริเวณภาคกลาง ส่วนในภาคอื่นๆ ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือเรียก “มะก้วยเทศ” ภาคอีสานเรียก “หมักหุง” และภาคใต้ (ยะลา) เรียก “แตงต้น” เป็นต้น ส่วนในภาษาอังกฤษเรียกว่า papaya หรือ melontree (ซึ่งแปลว่า แตงต้น เหมือนชื่อของภาคใต้)
สำหรับชื่อทางพฤกษศาสตร์ของมะละกอ คือ carica papaya Linn. มีลักษณะโดยทั่วไป คือ เป็นพืชยืนต้นเนื้ออ่อน ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 3-4 เมตร ใบเดี่ยว มีขนาดใหญ่ขอบใบหยักเว้าลึก ก้านใบกลมยาว กลวง ยาวประมาณ 1 เมตร ใบ ดอก และผล รวมอยู่เฉพาะส่วนบนยอดสุดของลำต้น ดอกมีสีขาวครีมแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย และตอกกระเทย
ผลมีหลายขนาดและรูปทรงตั้งแต่กลม รี และยาว ขนาดของผล มีตั้งแต่ไม่ถึง 100 กรัม ถึงหลายกิโลกรัมต่อผล
เปลือกผลดิบมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงแสดเมื่อสุก เนื้อในผลเมื่อดิบมีสีขาวเมื่อสุกมีสีเหลืองถึงแสดแดง
เมล็ดเมื่อยังอ่อนมีสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่เต็มที่
ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาว (Latex) โดยเฉพาะผลดิบมียางมากเป็นพิเศษ มะละกอทนความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร แต่ทนน้ำท่วมและความชื้นแฉะไม่ได้
มะละกอในฐานะผักพื้นบ้าน
มะละกอถูกนำมาใช้บริโภคเป็นผักได้หลายส่วนด้วยกัน เช่น ผล(ดิบ) ยอด ใบ และลำต้น ส่วนที่ใช้มากที่สุด คือ ผลดิบ ซึ่งอาจใช้บริโภคดิบก็ได้ เช่น นำมาปรุงตำส้มที่ชาวไทยรู้จักดี หรือนำมาทำให้สุกเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นต้ม (หรือต้มกะทิ) เป็นผักจิ้ม แกงส้ม ต้มกับเนื้อ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังนำเนื้อมะละกอดิบมาดองกับน้ำส้มเป็นผักดอง หรือนำเนื้อมะละกอมาดองเกลือ ตากแห้ง เป็นตังฉ่าย ใช้ปรุงอาหารจีนก็ได้
ยอดอ่อนและใบมะละกอก็นำมาใช้ปรุงอาหารเป็นผักได้เช่นเดียวกันแต่ในเมืองไทยยังไม่นิยมกัน อาจจะเป็นเพราะรังเกียจความขมหรือยางในใบและยอด แต่ในหลายประเทศนิยมกันมาก เช่น บนเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น ข้อดีประการหนึ่งของการนำใบและยอด มะละกอมาบริโภคเป็นผัก ก็คือ มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ชนิดต่างๆ จึงอยากขอฝากให้ชาวไทยที่มีฝีมือในการปรุงอาหารช่วยนำใบและยอดมะละกอมาทดลองประกอบอาหารให้ มีรสชาติที่คนไทยยอมรับเป็นอาหารไทยชนิดหนึ่งได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในอนาคตมาก
ในส่วนลำต้นมะละกอนั้นเมื่อปอกเปลือกด้านนอกออกจะได้เนื้อภายในที่มีสีขาวครีมและค่อนข้างอ่อนนุ่ม คล้ายเนื้อผักกาดหัวจีน (ไชเท้า) จึงสามารถนำมาปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับผักกาดหัว โดยเฉพาะนำมาดองเค็ม ตากแห้ง เหมือนหัวผักกาดเค็ม (ไชโป๊)

มะละกอนับเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงชนิดหนึ่ง เช่น เนื้อในผลซึ่งแม้คุณค่าจะด้อยกว่าใบและยอด แต่ก็นับว่าสูงโดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี แร่ธาตุเหล็ก และแคลเซียม เป็นต้น

ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของมะละกอ
ในต่างประเทศประชาชนส่วนใหญ่รู้จักมะละกอในฐานะผักเพราะมะละกอสุกเป็นผลไม้ที่ดีมากชนิดหนึ่ง เป็นที่นิยมกินกันทั่วโลกไม่เฉพาะในเขตร้อนที่ปลูกมะละกอได้เท่านั้น แต่ยังนำเข้าไปในประเทศเขตอบอุ่นที่ปลูกมะละกอไม่ได้อีกด้วย มะละกอสุกสามารถกินสด บรรจุกระป๋อง นำไปทำแยม และทำน้ำผลไม้ได้ดี มีรสอร่อย สีสวยน่ากิน คุณค่าทางโภชนาการสูง มีคุณค่าทางสมุนไพร มีผลให้กินตลอดปี ผลิตได้ง่าย ราคาไม่แพง ฯลฯ

มะละกอมีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมผลิตเอนไซม์ปาเปอีน (papain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารหมัก ทำให้เนื้อเปื่อยนุ่ม ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น
เอนไซม์ปาเปอีนได้จากยางมะละกอ ซึ่งกรีดแผลบนผลมะละกอดิบแล้วปล่อยให้แห้ง นำยางมะละกอแห้งมาสกัดเอนไซม์ปาเปอีน และเอนไซม์อื่นๆ บางชนิด ยางมะละกอนี้แม่บ้านชาวไทยรู้จักนำมาใช้ประโยชน์นานแล้ว เช่น ใช้หมักเนื้อให้อ่อนนุ่ม ใส่ในต้มแกงให้เนื้อเปื่อยยุ่ย เป็นต้น
มะละกอมีคุณค่าด้านสมุนไพรมากมายแทบทุกส่วนของพืชชนิดนี้ เช่น
• ยาง แก้ปวดฟัน ถ่ายพยาธิไส้เดือน กัดหูด ใช้ลบรอยฝ้าบนใบหน้า
• ราก ต้มกินขับปัสสาวะ
• เมล็ดแก่ ถ่ายพยาธิ แก้กระหายน้ำ
• ใบ บำรุงหัวใจ
• ผลดิบ เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับปัสสาวะ
• ผลสุก บำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบายอ่อนๆ
ในสมัยก่อนหมอดูมักใช้กระดานหมอดู ที่ทำจากเปลือกมะละกอโดยการทุบเปลือกแยกเนื้อออกจนหมด เหลือแต่เส้นใยแล้วลงรักและเขม่าจนแข็งดำ ตากให้แห้ง ก็จะได้แผ่นกระดานดำที่เบาและทนทานมาก
ตำราการปลูกต้นไม้ในบ้านบางฉบับมีข้อห้ามมิให้ปลูกมะละกอในบริเวณบ้านเพราะถือตามเสียง ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกับคำที่ว่า อัปมงคล คือ มะละกอ มีคำว่า “มะละ” พ้องกับคำว่า “มร” (มะระ) ซึ่งแปลว่า ตาย จึงถือว่าเป็นอัปมงคล(คล้ายลั่นทมที่คล้ายคำว่า “ระทม”) แต่เท่าที่สังเกตดูทั่วไปในปัจจุบันพบว่า ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ถือตามตำราฉบับนี้ จึงปลูกมะละกอในบริเวณบ้านกันทั่วไป
แม้แต่ในสมุดคู่มือว่าด้วยการทำสวนครัวที่พิมพ์แจกเมื่อปี พ.ศ.2482 ในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และรณรงค์ให้ชาวไทยทำสวนครัวกันอย่างจริงจังในสมุดคู่มือเล่นนั้นแนะนำให้ปลูกมะละกอเอาไว้ในบริเวณบ้าน โดยย่กย่องมะละกอว่า “เป็นอาหารอย่างดี หาที่เปรียบได้ยาก” คำยกย่องนั้นยังคงใช้ได้อยู่จนกระทั่งวันนี้